granules

การเลือกชนิดของพลาสติก คุณสมบัติ การใช้งาน

พลาสติกแบบออกเป็น 2 ประเภท คือ เทอร์โมพลาสติก และเทอร์โมเซ็ตติ้งพลาสติก

เทอร์โมพลาสติก Thermoplastic เป็น พลาสติกที่สามารถหลอมไหลเปลี่ยนรูปขึ้นรูปด้วยความร้อนและเซ็ตตัวแข็งเมื่อเย็นลง สามารถนำมาผ่านความร้องหลอมขึ้นรูปใหม่ได้ เป็นประเภทที่นิยมนำมาใช้ทั่วไป

เทอร์โมเซ็ตติ้งพลาสติก Thermosetting plastic  เป็นพลาสติกที่คงรูปเมื่อผ่านกระบวนการขึ้รรูปโดยใช้ความร้อนและแรงอัด หรือผ่านกระบวนการหล่อโดยการเกิดปฏิกิริยาระหว่างมอนอเมอร์เรซิ่นและตัวเร่ง แล้วไม่สามารถหลอมใช้ใหม่ได้อีก เช่น เมลามีน โพลีเอสเทอร์ โพลียูริเทน เป็นต้น

พลาสติกชนิดทั่วไป

  1. Polyethylene (PE)
    เป็นเทอร์โมพลาสติก มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี , มีความเหนียว และทนทานต่อแรงดึงปานกลาง พวกที่มีความหนาแน่นต่ำจะใสมากแต่จะขุ่นเมื่อความหนาแน่นสูง ปกติจะไม่ละลายในตัวทำละลายใดๆ แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 70 C จะเริ่มละลาย PE ได้ถูกจำแนกเป็นหลายชนิด ตัวหลักๆ ที่ใช้กันมากคือ LDPE , LLDPE , MDPE , HDPE การใช้งานของ PE กว้างขวางมาก ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ เช่น ขวด ,แผงบรรจุยา , และสายน้ำเกลือ , ชิ้นส่วนรถยนต์ ,เชือก , แห , อวน , ถุงพลาสติก , ท่อและรางน้ำ , เครื่องใช้ในครัวเรือน , ของเด็กเล่น , ฉนวนหุ้มสายไฟ , สายเคเบิ้ล , ดอกไม้พลาสติก , เคลือบหลังพรม , ผ้าใบพลาสติก , แผ่นฟิล์มสำหรับการบรรจุหีบห่อ , แผ่นฟิล์มที่ใช้ในการเกษตร
  2. Polyvinyl chloride (PVC)
    PVC เป็นเทอร์โมพลาสติกที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เมื่อติดไฟจะดับได้ด้วยตัวเอง ทนต่อน้ำ, น้ำมัน,กรด,ด่าง,แอลกอฮอล์ และสารเคมีต่างๆ ยกเว้นคลอรีน ทนต่อการขัดถู เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี และเนื่องจาก PVC มีคุณสมบัติแข็งแต่เปราะ และสลายตัวได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน และแสงแดด ดังนั้นจึงมักนำ PVC ไปทำ Compounding ก่อน โดยเติมสารเติมแต่งต่างๆ เช่น stabilizer , plasticizer เป็นต้น ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ใช้ทำท่อ ข้อต่อ ฉนวนหุ้มสายไฟ สายเคเบิ้ล แผ่นพลาสติก ฟิล์ม หนังเทียม รองเท้า บัตรเครดิต ทำจานแผ่นเสียง อุปกรณ์รถยนต์ ขวดพลาสติก ของเด็กเล่น
  3. . Polypropylene (PP)
    เป็นพลาสติกประเภทเทอร์โมพลาสติกที่เบาที่สุด มีสมบัติเชิงกลดีมาก เหนียว ทนต่อแรงดึง แรงกระแทกและทรงตัวดี มีจุดหลอมตัวที่ 165 C ไอน้ำและออกซิเจนซึมผ่านได้ต่ำ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก มีการนำเอา PP ไปใช้งานในลักษณะเดียวกับ PE เมื่อต้องการให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น PP ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่น ใช้ทำถุงร้อน ฟิล์มใส ฟิล์มห่อหุ้ม หรือบรรจุอาหารที่ไม่ต้องการให้ออกซิเจนซึมผ่าน พลาสติกหุ้มซองบุหรี่ เชือก แห อวน ถังน้ำมัน ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
  4. Polystyrene (PS)
    PS เป็นโพลิเมอร์ที่จัดเป็นพวกเทอร์โมพลาสติกที่มีการจัดเรียงตัวภายในโมเลกุลเป็นแบบอะเท็กติก (atactic) ทำให้อยู่ในรูปของโพลิเมอร์อสัณฐาน (amorphous) จึงมีลักษณะโปร่งแสงและใส นอกจากนี้ PS ยังมีคุณสมบัติเด่นๆ อีกคือ มีความแข็งมาก ไม่ยืดหยุ่น และเปราะ ไม่ดูดความชื้นและน้ำ ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น เป็นฉนวนไฟฟ้า มีอุณหภูมิกลาสทรานซิชั่น (Tg) ประมาณ 100 C จึงทนความร้อนได้ต่ำถ้าสัมผัสกับแสงแดดที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานๆ อาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเกิดรอยแตกได้ เฉื่อยต่อสารเคมี ทนต่อกรดแก่และเบสแก่ กันการซึมผ่านของก๊าซได้ดี อีกทั้งยังขึ้นรูปแบบต่างๆ ได้ง่ายอีกด้วย PS ได้ถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ทำอุปกรณ์เครื่องเขียน , เครื่องประดับ , ส้นรองเท้า , กระดุม , ตลับเครื่องสำอาง , ภาชนะ และขวดบรรจุอาหาร , เฟอร์นิเจอร์ , เครื่องสุขภัณฑ์ , ฝาครอบหลอดไฟ , กรอบประตูหน้าต่าง , ของเล่น , ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า,ตลับเทป,ตลับ VIDEO, หมวกกันน็อค,ไฟหน้ารถยนต์ , เปลือกแบตเตอรี่ , แผงหน้าปัทม์รถยนต์ นอกจากนี้ PS ยังได้ถูกผลิตออกมาในรูปของโฟมที่เรียกกันว่า EPS อีกด้วย
  5. acrylonitrile-butadiene-styrene (ABS)
    ABS แตกต่างจากพลาสติกทั่วไปเพราะเป็นพลาสติกที่มีความสมดุลทั้งในเรื่องความแข็งและความเหนียว สามารถคงสภาพรูปร่างได้ดี ทำให้มีคุณสมบัติทนทานต่อแรงกระแทกได้ดี และยังทนต่อแรงเสียดสี ความร้อน สารเคมีได้ดีกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป มีช่วงอุณหภูมิที่สามารถใช้งานได้กว้างนั่นคือ -20 องศาเซลเซียสถึง 80 องศาเซลเซียส โครงสร้างของพลาสติก ABSได้มาจากการทำปฏิกิริยาของโมโนเมอร์ 3 ชนิดคือ สไตรีน (styrene) , อะคริโลไนไตรล์ (acrylonitrile) และโพลิบิวทาไดอีน (polybutadiene) ซึ่งโมโนเมอร์ทั้ง 3 ชนิดล้วนส่งผลต่อคุณสมบัติของพลาสติก ABS โดยอะคริไลไนโตรล์ช่วยให้ทนความร้อนและสารเคมี บิวทาไดอีนช่วยให้มีความทนทานต่อแรงกระทบกระแทก ส่วนสไตรีนช่วยให้เนื้อพลาสติกมีพื้นผิวเป็นมันเงาสวยงาม และสามารถตัดแต่งรูปทรงได้ง่าย เหมาะกับการใช้เป็นชิ้นส่วนในรถยนต์ โครงภายนอกของเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนต่อการขีดข่วนเสียดสีเวลาใช้งาน และยังมีความสวยงามสามารถทำความสะอาดได้ง่าย อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ผลิตอุปกรณ์กีฬา, ท่อส่งก๊าซ, หมวกกันน็อก , โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  6. Polyethylene terephthalate (PET/PETP)
    เป็นโพลิเอสเตอร์เชิงเส้นตรงที่อิ่มตัวที่สำคัญที่สุด ถูกใช้งานในรูปของเส้นใยสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ฝุ่น และสิ่งสกปรกเกาะติดได้ง่าย ดูดซับเหงื่อได้ไม่ดี จึงนิยมผสมกับผ้าฝ้าย ในรูปของแผ่นฟิล์มที่ผลิตจาก PET มีความเหนียว และใส มักจะใช้ในงานเกี่ยวกับอาหาร และยา , ในรูปของ จาน ชาม สามารถแช่ตู้เย็น , อุ่นในหม้อน้ำเดือด จนถึงเสริฟบนโต๊ะอาหารได้เลย , ในรูปของขวดเพ็ท (โดยวิธีเป่ายืด = Stretch-Blow Moulding) ขวดเพ็ทนี้จะใสเหนียว ไม่แตกง่ายๆ ทนต่อความดันก๊าซได้สูง ทั้งยังผ่าน FDA (คณะ กรรมการอาหารและยา) เรียบร้อยแล้ว ใช้บรรจุน้ำอัดลม , บรรจุอาหาร , สุรา , ยา , เครื่องสำอาง
  7. Polymethyl methacrylate (PMMA) หรือ ACRYLIC พลาสติกวิศวกรรม มีลักษณะใส ไม่มีสี สามารถให้แสงส่องผ่านได้ถึง 92% มีความแข็งแกร่ง และทนทานต่อดินฟ้าอากาศได้ดีกว่า Polystyrene สมบัติเชิงกลและความคงทนต่อความร้อนดีมาก ส่วนสมบัติการเป็นฉนวนไฟฟ้าดีปานกลาง เนื่องจากสมบัติเด่นของ PMMA คือ ความโปร่งใส และการนำไปย้อมสีได้ง่าย จึงถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบรถยนต์ เช่น ไฟเลี้ยว ไฟท้าย กระจกรถยนต์ หน้าปัดเข็มไมล์ ประโยชน์การใช้งานอื่นๆ เช่น ป้ายโฆษณา แว่นตา เลนส์ ใช้ทำกระจกแทนแก้ว หลังคาโปร่งแสง ก๊อกน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องประดับ เป็นต้น
  8. Acrylonitrule Styrene (AS)คุณสมบัติ มีความใส ความแข็งแกร่งและเหนียว และยังมีคุณสมบัติการทนความร้อน ทนต่อสารเคมีได้ดีประเภทผลิตภัณฑ์  สุขภัณฑ์ ใบพัดพัดลม บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เครื่องปั่นน้ำผลไม้  ไฟแช็ค ฝาครอบไฟท้ายรถยนต์ เป็นต้น
  9. NYLON 6 คุณสมบัติ มีลักษณะทางกายภาพเป็นวัตถุทึบแสง คุณสมบัติที่สำคัญคือ มีความแข็ง เหนียว ไม่เสียรูปทรงง่าย เหมาะสำหรับงานรับแรงมาก ๆ ทนต่อการกัดกร่อน และการเสียดสี ประเภทผลิตภัณฑ์ เหมาะสำหรับนำไปใช้กับงานประเภทเฟือง เช่น เฟืองในเครื่องคิดเลข เป็นต้น ทำล้อรถเข็น ลูกกลิ้ง
  10. NYLON 6.6 คุณสมบัติ มีความยืดหยุ่นตัวสูง คงทนต่อการขัดถูได้ดีมาก สามารถทนทานอุณหภูมิ ต่ำ ๆ ได้ดี มีความคงทนต่อด่างที่ดีเยี่ยม
    ประเภทผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ใบพัดเรือหางยาว Cable Tie เป็นต้น
  11. Polycarbonate (PC) คุณสมบัติ มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ โปร่งใส แข็ง ทนต่อความร้อนสูง ทนทานต่อกรด แต่ไม่ทนด่าง ทนแรงกระแทกได้ดี ประเภทผลิตภัณฑ์ ใช้ทำขวดนมเด็ก ถ้วยชาม ส่วนประกอบรถยนต์ กระจกหน้าหมวกนักบิน แว่นตานิรภัย เลนส์กล้องถ่ายภาพ หลังคาโปร่งแสง เครื่องป้องกันอัคคีภัย เครื่องกรองเลือด  เครื่องแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเลือด ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ต้องฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน
  12. Polyoxymethylene (POM) คุณสมบัติ มีน้ำหนักเบาและเหนียว ทนการเสียดสีดี ประเภทผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ชิ้นส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องกลและไฟฟ้า เช่น เฟืองเกียร์ ชิ้นส่วนของเครื่องจักร ระบบท่อ ตัวล็อคเชือก ซิป เป็นต้น
  13. High Impact Polystyrene (HIPS) คุณสมบัติ มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องทนแรงกระแทกสูง ขึ้นรูปชิ้นงานได้ง่าย ประเภทผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น case สำหรับทีวี เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ของเด็กเล่น สุขภัณฑ์ แก้วและถาดบรรจุอาหาร
  14. Polybutylene terephthalate (PBT) เป็นพลาสติกวิศวกรรมในตระกูล Polyester มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นฉนวนไฟฟ้า ภายใต้ความชื้น และสามารถระบายความร้อน ออกจากตัวได้ดีกว่าพลาสติกทั่วไป 3-5 เท่า ทนความร้อนสูงมาก มีอุณหภูมิหลอมตัวระดับ 227 C โครงสร้างของโมเลกุลมีระเบียบ (Crystalline) ทำให้แกร่ง , เหนียว , ทนทานแรงกระทบกระแทกได้สูง , ทนสารเคมีเป็นเลิศ , ดูดซึมความชื้นต่ำ , นิยมใช้ผสมกับสารเติม แต่งเพื่อให้สามารถทนความร้อนได้สูงขึ้น และมีความแกร่งขึ้น , ใช้ทำเปลือกหุ้มวงจรไฟฟ้าอีเล็กทรอนิกส์ , เครื่องกีฬา , อุปกรณ์รถยนต์ เช่น เกียร์, กันชน

สารเติมปรับ คุณสมบัติพลาสติกวิศวกรรม แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้

1.สารเติมคุณสมบัติด้านต่างๆ (Additives) เช่น สารที่ใช้ป้องกัน UV สารที่เติมเพื่อให้ทนความร้อนสารที่เติมเพื่อให้อ่อนตัวยืดตัวมากขึ้น สารช่วยให้ลื่นตัวเพื่อการขึ้นรูป สารเติมเพื่อปรับสี สารป้องกันการเสื่อมอายุเร็ว สารเติมเพื่อขยายตัว เช่น โฟม หรือฟองน้ำ

2.สารเสริมแรง (Reinforcements) เป็นสารที่เติมเพิ่มคุณสมบัติทางกลให้กับพลาสติกหรืออาจเรียกว่า พลาสติกผสม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการรับแรงของพลาสติกให้ดีขึ้น เช่น พลาสติกเสริมเส้นใยแก้ว พลาสติกไฟเปอร์กลาส เป็นต้น

3.สารเพิ่มเนื้อ (Fillers) เป็นสารเติมที่อยู่ในรูปของสารอินทรีย์หรือสารอนินทรีย์ก็ได้ จุดประสงค์ที่ใช้เติมเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อพลาสติก ช่วยเสริมคุณสมบัติทางกล ช่วยลดความเปราะให้น้อยลง ละช่วยลดต้นทุน